ประเภทของลูกล้อ (Caster)

ลูกล้อ (Caster)

ล้อรถเข็น หรือ ล้อเลื่อน เป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในหลายอุตสาหกรรม มีไว้สำหรับติดตั้งบริเวณฐานของวัตถุและเครื่องจักรที่มีน้ำหนักมาก ใช้สำหรับการเข็นเพื่อเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งมีวัสดุของล้อให้เลือกใช้มากมาย ตัวอย่างเช่น ไนลอน, ยางธรรมชาติ, สเตนเลส เหล็กล่อ และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีรูปร่างให้เลือกสรรมากมาย อาทิเช่น ล้อรถเข็นแบบมีเบรก, ล้อรถเข็นแบบมีขาฉิ่ง, ล้อรถเข็นแบบตายตัว, ล้อรถเข็นแบบหมุนอิสระ เป็นต้น

ลูกล้อสแตนเลส (Stainless Steel Caster)

ลูกล้อสแตนเลส หรือ ล้อรถเข็นสแตนเลส เป็นล้อรถเข็นที่มีผิวเรียบมันวาว มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้มาก และมีคุณสมบัติต้านทานต่อการกัดกร่อนและสารเคมี โดยส่วนใหญ่ล้อรถเข็นชนิดนี้นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรมอาหารและยา รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์แบบต่างๆ อีกด้วย

ลูกล้อยูรีเทน (Urethane Caster)

ลูกล้อยูรีเทน หรือ ลูกล้อโพลียูรีเทน เป็นล้อที่นิยมใช้กันมากในอุตสาหกรรม เพราะเป็นการนำเอาข้อดีของล้อยางและล้อไนลอนมารวมเข้าด้วยกัน ทำให้มีคุณสมบัติเด่น คือ เสียงรบกวนในการเคลื่อนที่ต่ำ, ไม่ทำให้พื้นเป็นรอย, ยากต่อการฉีกขาด สามารถรับน้ำหนักได้มาก, และใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีการสัมผัสกับน้ำมัน จารบี และสารเคมีอื่นๆ ได้ โดยส่วนใหญ่ล้อชนิดนี้จะใช้งานบนพื้นไม้ พื้นกระเบื้อง พื้นเซรามิก และคอนกรีต มีให้เลือกใช้งานมากมากทั้งแบบแป้นหมุน, แป้นนิ่ง และแบบมีเบรค เป็นต้น

ลูกล้อไนลอน (Nylon Caster)

ลูกล้อไนลอน เป็นลูกล้อพลาสติกสีขาว มีความแข็งแรงสูง ทนต่อการสึกหรอ รับแรงกระแทกได้ดี อีกทั้งรับน้ำหนักได้มาก และไม่ทำให้พื้นเป็นรอย นอกจากนี้ยังสามารถทนต่อสารเคมีและการกัดกร่อนได้ ด้วยคุณสมบัติข้างต้นทำให้ล้อชนิดนี้ นิยมนำไปใช้ในพื้นที่กลางแจ้งและพื้นผิวขรุขระได้ และถูกนำไปใช้กับอุปกรณ์ทั่ว เช่น ชั้นวางของ ล้อสำหรับเก้าอี้ และอื่นๆ แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน เพราะความแข็งแรงของวัสดุไนลอนมีมากกว่าพื้นไม้และพื้นผิวอ่อน อาจส่งผลให้พื้นเป็นรอยได้หากใช้งานกับพื้นประเภทนี้

ลูกล้อเรซิ่น (Resin Caster)

ลูกล้อเรซิ่น เป็นลูกล้อขนาดเล็กผลิตจากพลาสติก มีราคาถูก ส่วนใหญ่นิยมใช้กับเก้าอี้สำนักงาน โดยแกนล้อที่ยื่นออกมาจะมีลักษณะเป็นแท่งเหล็ก และมีแหวนรองขนาดเล็กซึ่งมีไว้สำหรับล็อคเข้ากับขาของเก้าอี้สำนักงาน

ลูกล้อโพลีโพรพิลีน (Polypropylene Caster หรือ PP Caster)

ลูกล้อโพลีโพรพิลีน เป็นลูกล้อที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกโพลีเมอร์ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหนียว แข็งแรง มีน้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทก ทนต่อความร้อน จารบีและน้ำมันต่างๆ สามารถใช้ได้ทั้งในอาคารและนอกอาคาร พบเห็นได้ทั่วไปในอุปกรณ์เหล่านี้ เช่น ชั้นวางของ รถเข็นสำหรับร้านซักรีด เป็นต้น ลูกล้อชนิดนี้สามารถใช้งานได้ในสภาวะแวดล้อมในช่วงอุณหภูมิประมาณ -20 ถึง 60 องศาเซลเซียส (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลจากผู้ผลิตแต่ละแบรนด์)

ลูกล้อโพลียูรีเทน (Polyurethane Caster หรือ PU Caster)

ลูกล้อโพลียูรีเทน เป็นลูกล้อที่ใช้รับน้ำหนักของชิ้นงานมาก เมื่อเทียบกับล้อยางทั่วไป คุณสมบัติเด่นของลูกล้อชนิดนี้คือ ทนต่อการฉีกขาดได้ดี ไม่ทำให้พื้นเป็นรอยขีดข่วนในขณะใช้งาน มีความยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกได้ดี และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับล้อยางทั่วไปที่ใช้งานในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน

ลูกล้อเหล็ก (Steel Caster)

ลูกล้อเหล็ก ถือเป็นวัสดุอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตล้อรถเข็นสำหรับรองรับน้ำหนักมาก ล้อชนิดนี้มีความแข็งแรงสูงจึงต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงพื้นที่ที่ใช้งานด้วย เพราะมีโอกาสที่ล้อรถเข็นจะทำให้พื้นเกิดความเสียหายได้ ตัวอย่างลูกล้อเหล็กที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ ลูกล้อเหล็กหล่อ, ลูกล้อเหล็กเหนียว, ลูกล้อเหล็กอัดขึ้นรูป เป็นต้น

ลูกล้อเหล็กหล่อ (Cast Iron Caster)

ลูกล้อเหล็กหล่อ เป็นล้อที่มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้มากเช่นกัน เหมาะสำหรับการใช้งานบนพื้นคอนกรีตที่มีความขรุขระมาก หรือใช้งานบริเวณกลางแจ้ง เวลาเข็นล้อเหล็กมักจะมีเสียงดังรบกวน และทำให้พื้นผิวบริเวณนั้นเป็นรอย จึงควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนการเลือกใช้ล้อรถเข็นชนิดนี้

ลูกล้อเหล็กอัดขึ้นรูป (Forged Steel Caster)

ลูกล้อเหล็กอัดขึ้นรูป เป็นล้อที่ผ่านกระบวนการผลิตโดยการอัดเนื้อเหล็กให้แน่น จึงทำให้ไม่มีโพรงอากาศอยู่ภายในเนื้อเหล็ก ส่งผลให้ลูกล้อเหล็กอัดมีความหนาแน่นมากกว่า และมีความแข็งแรงมากกว่าลูกล้อเหล็กหล่อ โดยส่วนใหญ่มักใช้กับรถเข็นที่เคลื่อนที่บนพื้นคอนกรีต

ลูกล้อเหล็กเหนียว (Ductile Steel Caster)

ลูุกล้อเหล็กเหนียว เป็นลูกล้อเหล็กที่ใช้สำหรับงานที่ต้องรับน้ำหนักมาก ลูกล้อมีความแข็งแรงและทนทานสูง แต่มีข้อเสียคือ พื้นที่ใช้งานมีโอกาสเกิดความเสียหายได้ อันเนื่องมาจากความแข็งของล้อเหล็ก ล้อชนิดนี้มีให้เลือกด้วยกัน 2 ชนิดคือ ล้อหน้าเต็ม และล้อหน้าตัดรูปตัว V

ลูกล้อเหล็กร่อง V (V-Groove Caster)

ลูกล้อเหล็กร่อง V ล้อรถเข็นนี้ชนิดทำมาจากวัสดุเหล็กหล่อและมีจุดสังเกต คือ บริเวณล้อจะมีร่องตัว V ที่ถูกบากไว้ตลอดแนวของลูกล้อ ซึ่งมีไว้ใช้งานร่วมกับรางเหล็ก โดยให้ลูกล้อเคลื่อนที่อยู่บนรางเหล็กที่ติดตั้งไว้ ล้อชนิดนี้เหมาะกับการขนย้ายอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก มักพบเห็นได้ทั่วไปในเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ลูกล้อโมโนพรีน (Monoprene Caster)

ลูกล้อโมโนพรีน เป็นหนึ่งในล้อยางชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการดูดซับแรงกระแทก และแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าลูกล้อยางกึ่งนิวเมติกส์ แต่มีน้ำหนักหนักว่าลูกล้อยางนิวเมติกส์ หรือ ลูกล้อยางเติมลม โดยส่วนใหญ่ล้อชนิดนี้นิยมใช้ในบริเวณที่มีพื้นขรุขระ และมักจะใช้กับรถเข็นในงานเกษตรกรรม

ลูกล้อนีโอพรีน (Neoprene Caster)

ลูกล้อนีโอพรีน ลูกล้อชนิดนี้ใช้รับน้ำหนักได้ไม่มากนัก จุดเด่นของล้อชนิดนี้ คือ มีความทนทานสูง มีเสียงรบกวนต่ำในขณะใช้งาน เมื่อเทียบกับล้อพลาสติกบางชนิด นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติทนต่อน้ำมันและจารบี รวมไปถึงน้ำและสารเคมี อีกด้วย โดยส่วนใหญ่ลูกล้อนีโอพรีนนิยมนำไปใช้กับ อุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการ, เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน โดยเฉพาะเก้าอี้เพื่อสุขภาพ เป็นต้น

ลูกล้อยาง หรือ ลูกล้อยางธรรมชาติ (Natural Rubber Caster)

ลูกล้อยาง หรือ ลูกล้อยางธรรมชาติ เป็นล้อที่มีความนิ่ม ยืดหยุ่น ทำให้ไม่เกิดเสียงรบกวนในขณะใช้งาน เหมาะกับการใช้งาน ที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อยๆ โดยส่วนใหญ่มักจะมีให้เลือก 2 สี คือ สีดำเหมาะกับการใช้งานทั่วไป และ สีเทาเหมาะกับบริเวณที่ต้องการเน้นความสะอาด เช่น ในพื้นที่ห้องอาหาร, โรงแรม, โรงพยาบาล เป็นต้น

ลูกล้อยางเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Rubber Caster หรือ TPR Caster)

ลูกล้อยางเทอร์โมพลาสติก เป็นล้อยางที่นำคุณสมบัติเด่นของวัสดุยางแข็งและยางอ่อนมารวมไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ มีความทนทานสูง เสียงรบกวนในการเคลื่อนที่ต่ำ และปกป้องพื้นผิวในขณะเคลื่อนที่ รวมไปถึงมีคุณสมบัติทนต่อสารเคมี น้ำ และน้ำมัน ได้ดีอีกด้วย

ลูกล้อโพลิโอเลฟินส์ (Polyolefin Caster)

ลูกล้อโพลีโอเลฟิน เป็นลูกล้อที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง สามารถรับแรงกระแทกได้ดีกว่าล้อยางแบบแข็ง และไม่ทิ้งคราบสกปรกบนพื้นเมื่อใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถทนต่อน้ำมัน, คราบไขมัน และสารเคมีบางชนิดได้ดีอีกด้วย แต่ล้อชนิดนี้ไม่เหมาะกับการใช้งานที่ต้องรับน้ำหนักมาก

ลูกล้อไนลอนผสมแก้ว (Glass Filled Nylon Caster)

ลูกล้อไนลอนผสมแก้ว ลูกล้อชนิดนี้เกิดจากการผสมวัสดุสองชนิดเข้าด้วยกันนั้นก็ คือ ไนลอนและแก้วโบโรซิลิเกต ซึ่งทำให้ล้อรถเข็นชนิดนี้สามารถทนอุณหภูมิได้สูงขึ้น ไม่เกิดเสียงรบกวนในขณะเคลื่อนที่ ไม่ทำให้พื้นเสียหาย และสามารถรับแรงกระแทกได้ดี อีกทั้งสามารถทนต่อน้ำมันและจารบีได้ดีอีกด้วย ล้อชนิดนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้งานบนพื้นไม้ และพื้นคอนกรีต

ลูกล้อฟีนอลิก (Phenolic Caster)

ล้อฟีนอลิก ล้อชนิดนี้มีส่วนผสมระหว่าง macerated denim และ พลาสติกฟีนอลิก ทำให้มีความแข็งเทียบเท่ากับลูกโบว์ลิ่ง สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก แต่มีข้อควรระวัง คือ ควรใช้ในพื้นที่สะอาดเท่านั้น ไม่ควรใช้ล้อรถเข็นชนิดนี้ในสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้น เพราะเมื่อล้อรถเข็นเกิดรอยบิ่น ความชื้นจะเข้าไปที่เนื้อวัสดุทำให้ล้อมีคุณสมบัติคล้ายกับฟองน้ำ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลงตามไปด้วย

ลูกล้อยางนิวเมติกส์ หรือ ลูกล้อยางเติมลม (Pneumatic Caster)

ลูกล้อยางนิวเมติกส์ หรือ ลูกล้อยางเติมลม เป็นล้อยางที่มีผนังบาง และภายในกลวง และมีจุกวาล์วลมสำหรับเติมลมเข้าไปภายในล้อ ซึ่งสามารถปรับความแข็งและความอ่อนของล้อได้ ตามปริมาณลมที่เติมเข้าไป ล้อชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นคือ รองรับการกระแทก และลดแรงสั่นสะเทือนได้ดี ล้อชนิดนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้ในงานเกษตร ข้อควรระวังในการใช้งาน คือ ต้องระวังของมีคมเป็นพิเศษ เพราะอาจจะทำให้ล้อเกิดรอยรั่วจนไม่สามารถใช้งานได้ และต้องตรวจเช็คลมยางอยู่เป็นประจำ

ลูกล้อยางกึ่งนิวเมติกส์ (Semi Pneumatic Caster)

ลูกล้อยางกึ่งนิวเมติกส์ เป็นล้อยางที่มีผนังหนา ภายในมีช่องอากาศเพียงเล็กน้อย และไม่มีจุกวาล์วลมสำหรับเติมลมเข้าไปภายในล้อ จึงทำให้ล้อชนิดนี้รองรับการกระแทก และลดแรงสั่นสะเทือนได้น้อยลง เมื่อเทียบกับลูกล้อยางเติมลม แต่มีข้อดีคือ หน้ายางมีความทนทานต่อการเจาะ และไม่จำเป็นต้องตรวจเช็คลมยางอย่างสม่ำเสมอ

ลูกล้อยางตัน (Falt Free Caster หรือ Foam Filled Caster)

ลูกล้อยางตัน เป็นล้อยางตันที่ผลิตจากวัสดุโพลียูรีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติ ดูดซับแรงกระแทก และลดแรงสั่นสะเทือนได้ดี นอกจากนี้ยังทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ความร้อน ความเย็น รังสียูวีและสารเคมี โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ในพื้นที่กลางแจ้งและบริเวณพื้นที่ผิวขรุขระ ตัวอย่างอุปกรณ์ที่นิยมติดตั้งล้อยางตัน ได้แก่ เครื่องตัดหญ้า, รถเข็นของ เป็นต้น

ลูกล้อป้องกันไฟฟ้าสถิต (ESD Caster)

ล้อป้องกันไฟฟ้าสถิต เป็นลูกล้อที่มีคุณสมบัติป้องกันไฟฟ้าสถิต ล้อชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีรูปแบบในการยึดให้เลือกทั้งแบบแป้นเกลียว, แป้นยึดน็อต, และแป้นสวม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีให้เลือกทั้งแบบล้อเป็นและล้อตายอีกด้วย

ลูกล้อยางนำไฟฟ้า (Electrically Conductive Rubber Wheel)

ล้อยางนำไฟฟ้า เป็นล้อที่ผลิตจากยางสไตรีนบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่งผสมกับคาร์บอน ทำให้มีคุณสมบัติเปรียบเสมือนกับสายดิน ช่วยในการป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นจากการขนย้ายวัตถุดิบในการผลิต ล้อชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ลูกล้อกันกระแทก (Shock Absorbing Caster)

ลูกล้อกันกระแทก ล้อชนิดนี้มีลักษณะเด่น คือ จะมีชุดสปริงกันกระแทกติดตั้งมาด้วย โดยมีให้เลือกทั้งแบบสปริง 1 ชุดและสปริง 2 ชุด ซึ่งช่วยในการดูดซับแรงกระแทกได้ดี เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักมาก สามารถใช้งานในบริเวณพื้นที่ขรุขระได้อย่างสะดวกสบาย และช่วยลดการสึกหรอบริเวณพื้นที่ใช้งานได้ดีอีกด้วย

ลูกล้อเตี้ย (Low Profile Caster)

ลูกล้อเตี้ย เป็นล้อรถเข็นที่มีขนาดเล็ก เมื่อติดตั้งบริเวณฐานของอุปกรณ์หรือเครื่องจักรจะทำให้ความสูงโดยรวมเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่นิยมใช้กับงานที่ต้องการควบคุมความสูงโดยรวมเป็นพิเศษ มีให้เลือกทั้งแบบมีเบรคและไม่มีเบรค นอกจากนี้ยังมีให้เลือกทั้งแบบล้อเดี่ยวและล้อคู่อีกด้วย

ลูกล้อเตี้ยสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ (Parallel Caster)

ลูกล้อเตี้ย รูปแบบนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ตัวฐานของล้อสามารถที่จะติดตั้งฝังเข้าไปกับเนื้อวัสดุของอุปกรณ์ชิ้นนั้นได้ โดยทำให้ความสูงรวมของอุปกรณ์เปลี่ยนแปลงน้อยมาก เมื่อเทียบกับล้อเตี้ยแบบทั่วไป ล้อเตี้ยชนิดนี้โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น ตู้ไม้สำหรับเก็บของ เป็นต้น

ล้อรถเข็น แบบล้อตาย หรือ ล้อนิ่ง (Fixed Caster หรือ Rigid Caster)

ล้อรถเข็น แบบล้อตาย หรือ ล้อตาย ล้อรถเข็นชนิดนี้จะสังเกตุเห็นได้ว่า ลูกล้อถูกยึดกับโครงสร้างเหล็กแบบคงที่ทำให้ไม่สามารถที่จะหมุนได้อย่างอิสระ ด้วยโครงสร้างแบบนี้จึงทำให้เคลื่อนที่ได้เพียงเดินหน้าและถอยหลังแบบแนวเส้นตรงเท่านั้น ล้อชนิดนี้สามารถใช้งานได้ทั้งในพื้นผิวขรุขระและในกลางแจ้ง โดยส่วนใหญ่มักจะใช้งานร่วมกับล้อเป็น เพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ล้อรถเข็น แบบล้อเป็น (Swivel Caster)

ล้อรถเข็น แบบล้อเป็น หรือ ล้อเป็น ล้อรถเข็นชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถแกนล้อและลูกล้อได้รอบทิศทาง ทำให้สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของรถเข็นได้อย่างอิสระ โดยส่วนใหญ่นิยมใช้กับรถเข็นในห้างสรรพสินค้า, รถเข็นในโกดังสินค้า และ รถเข็นเตียงในโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีให้เลือกทั้งแบบมีก้านล็อค และไม่มีก้านล็อคอีกด้วย

ล้อรถเข็น แบบมีเบรค

ล้อรถเข็น แบบมีเบรค ล้อรถเข็นชนิดนี้จะมีชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กยื่นออกมาจากโครงสร้าง ซึ่งมีไว้ใช้สำหรับการห้ามล้อ หรือล็อคล้อไม่ให้มีเคลื่อนที่ ล้อรถเข็นรูปแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ และอุปกรณ์ขนย้ายที่มีน้ำหนักมาก เพื่อลดปัญหาการลื่นไถล และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ตัวอย่างการใช้งานที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น เตียงพยาบาล, รถเข็นที่บรรทุกของน้ำหนักมาก และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของเบรคให้เลือกใช้งานได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เบรคจากด้านข้าง, เบรคจากด้านบน เป็นต้น

ล้อรถเข็น แบบมีเบรคด้านข้าง (Side Lock หรือ Top Lock)

ล้อรถเข็น แบบมีเบรคด้านข้าง ล้อรถเข็นชนิดนี้หากสังเกตุจะพบว่า จะมีแผ่นเหล็กยื่นออกมาทางด้านข้างของล้อ มีไว้สำหรับเบรคเพื่อล็อคการหมุนของลูกล้อ แต่ขาของลูกล้อยังสามารถหมุนได้อย่างอิสระ ในส่วนของการใช้งานนั้น ให้ใช้เท้าเหยียบที่ขาเบรคในด้านฝั่ง “ON” เพื่อล็อคล้อไม่ให้หมุน ในทางกลับกันหากเหยียบที่ด้านฝั่ง “OFF” ก็จะเป็นการปลดล็อคทำให้ล้อสามารถหมุนได้เป็นปกติ

ล้อรถเข็น แบบเบรค 2 จังหวะ (Total Lock Caster หรือ Double Lock Caster )

ล้อรถเข็น แบบมีเบรค 2 จังหวะ ล้อรถเข็นชนิดนี้จะมีแผ่นเหล็กยื่นออกมาบริเวณด้านบนของโครงสร้างล้อรถเข็น มีไว้สำหรับเบรคเพื่อล็อคการหมุนของลูกล้อและขาของลูกล้อ ในส่วนของการใช้งานนั้น ให้ใช้เท้ากดที่ขาเบรคในด้านฝั่ง “ON” เพื่อล็อคล้อและขาล้อไม่ให้หมุน ในทางกลับกันหากงัดแผ่นเหล็ก “OFF” ขึ้นก็จะเป็นการปลดล็อค ทำให้ล้อและขาของล้อสามารถหมุนได้อย่างอิสระ

ล้อรถเข็น แบบเบรคด้วยหน้าสัมผัส (Face Contact Brake.)

ล้อรถเข็น แบบเบรคด้วยหน้าสัมผัส ล้อรถเข็นชนิดนี้ใช้วิธีการเบรค คือ ใช้มือหมุนสกรูบริเวณด้านหลังของล้อ เพื่อดันแผ่นเหล็กให้กดบริเวณหน้าสัมผัสของล้อรถเข็น ซึ่งมีข้อดี คือ สามารถกำหนดแรงกดที่กระทำบนล้อรถเข็นได้ ปัจจุบันระบบเบรคของล้อรถเข็นชนิดนี้ ได้ถูกผลิตออกมาเป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับใช้งานร่วมกับล้อรถเข็นที่ไม่มีระบบล็อคล้อในตัว

ล้อรถเข็นปรับระดับ (Leveling Caster)

ล้อรถเข็น แบบมีขาสำหรับล็อคตำแหน่ง ล้อรถเข็นประเภทนี้นอกจากจะใช้สำหรับเคลื่อนย้ายเครื่องจักรจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้แล้วนั้น ยังมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม คือ สามารถเปลี่ยนจากขาตั้งล้อรถเข็นเป็นขาตั้งโพลียูรีเทน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นคงในการติดตั้งเครื่องจักร ล้อรถเข็นชนิดนี้ มีวิธีการปรับความสูงของขาตั้งได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ใช้มือหมุนน็อป ใช้การขันน็อต และใช้คันโยกที่ติดตั้งมากับชุดลูกล้อ เป็นต้น

ล้อรถเข็นปรับระดับได้แบบใช้มือหมุน (Leveling Caster Manual Handle)

ล้อรถเข็น แบบมีขาสำหรับล็อคตำแหน่งโดยใช้มือหมุน ล้อรถเข็นชนิดนี้มีขาตั้งติดตั้งมาด้วย ซึ่งผลิตกจากวัสดุโพลียูรีเทน มีรูปลักษณ์ที่สวยงามทันสมัย โดยส่วนใหญ่ติดตั้งกับเครื่องจักรขนาดเล็กและขนาดกลาง ในส่วนของการใช้งานนั้นเพียงแค่หมุนลูกบิดที่อยู่บริเวณด้านล่างก็สามารถที่จะปรับความสูงของขาตั้งได้ทันที

ล้อรถเข็นปรับระดับได้แบบใช้คันโยกหมุน (Leveling Ratchet Caster)

ล้อรถเข็น แบบมีขาสำหรับล็อคตำแหน่งโดยใช้คันโยกหมุน ล้อรถเข็นชนิดนี้มีขาตั้งติดตั้งมาด้วย ซึ่งผลิตกจากวัสดุโพลียูรีเทนเช่นกัน มีรูปลักษณ์ที่สวยงามทันสมัย ในส่วนของการใช้งานนั้นเพียงแค่ ดึงก้านเหล็กที่ถูกสอดเก็บเอาไว้ที่บริเวณล้อรถเข็นออกมา แล้วทำการขันเพื่อปรับระดับตามความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย แต่มีข้อเสีย คือ ไม่เหมาะกับการติดตั้งในพื้ืนที่ใช้งานที่จำกัด

ล้อรถเข็น พร้อมขาฉิ่ง (Caster With Leveling Mount)

ล้อรถเข็นพร้อมขาฉิ่ง ล้อรถเข็นชนิดนี้มีอุปกรณ์ที่ติดตั้งเพิ่มเข้ามาคือ ขาฉิ่งหรือขาสำหรับล็อคตำแหน่ง โดยล้อรถเข็นชนิดนี้สามารถที่จะใช้งานได้ทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร และล็อคตำแหน่งของเคลื่อนจักรได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่าง เช่น รถลากพาเลตในการขนย้ายเครื่องจักร หรือแม่แรงสำหรับยกฐานของเครื่องจักร เป็นต้น

ล้อแบบสวม (Stem Caster หรือ Caster Plug-In Type)

ล้อแบบสวม ล้อรถเข็นชนิดนี้บริเวณแป้นล้อจะมีแท่งแกนเหล็กโผล่ขึ้นมา โดยมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น แท่งเหล็กธรรมดา, แท่งเหล็กพร้อมซีลยาง, แท่งเหล็ก Grip Ring, แท่งเหล็ก Grip Neck เป็นต้น โดยแท่งเหล็กเหล่านี้มีไว้สำหรับสวมเข้ากับโครงสร้างของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น นั่งร้าน เก้าอี้สำนักงาน และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีชนิดของลูกล้อรถเข็นให้เลือกใช้งานอีกมากมาย

ล้อเหล็กฉากยึด (Angle Caster)

ล้อรถเข็นแบบฉากยึด ล้อรถเข็นชนิดนี้จะเห็นได้ว่ามุมของล้อรถเข็นนั้นประกอบด้วยแผ่นเหล็กบางสองแผ่นวางตั้งฉากกันมีไว้สำหรับยึดบริเวณขอบของอุปกรณ์และเครื่องจักรได้พอดี นอกจากนี้ยังมีชนิดของล้อรถเข็นให้เลือกมากมายหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ไนลอน ยางสังเคราะห์ เป็นต้น

ล้อรถเข็น สำหรับรับน้ำหนักมาก (Heavy Duty Caster)

ล้อรถเข็น สำหรับรับน้ำหนักมาก ล้อรถเข็นชนิดนี้ส่วนใหญ่จะใช้รับน้ำหนักของเครื่องจักรขนาดใหญ่และอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก ตัวอย่างเช่น ล้อโพลียูรีเทน, ลูกล้อโพลีโพรพิลีน, ล้อยางเทอร์โมพลาสติก เป็นต้น

ล้อรถเข็น สำหรับรับน้ำหนักปานกลาง (Medium Duty Caster)

ล้อรถเข็น สำหรับรับน้ำหนักปานกลาง ล้อรถเข็นชนิดนี้ส่วนใหญ่จะใช้รับน้ำหนักของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักปานกลาง ตัวอย่างเช่น ล้อเหล็กหล่อ, ล้อโพลีโพรพิลีน, ล้อยาง เป็นต้น ล้อชนิดนี้ส่วนใหญ่นิยมนำไปใช้กับรถเข็นทั่วไป และรถเข็นดอลลี่

ล้อรถเข็น สำหรับรับน้ำหนักเบา (Light Duty Caster)

ล้อรถเข็น แบบแผ่นเพลท ล้อรถเข็นชนิดนี้มีแผ่นโลหะอยู่ด้านบน มีด้วยกันสองรูปแบบ คือ แผ่นเพลตชนิดหมุนปรับทิศทางได้ และแบบชนิดหมุนปรับทิศทางไม่ได้ โดยส่วนใหญ่ล้อรถเข็นชนิดนี้นิยมใช้ติดตั้งกับเครื่องจักร และรถเข็นทั่วไป

ล้อรถเข็น แบบแผ่นเพลท (Caster Plate Type)

ล้อรถเข็นแบบแผ่นเพลท ล้อรถเข็นชนิดนี้มีแผ่นโลหะอยู่ด้านบน มีด้วยกันสองรูปแบบ คือ แผ่นเพลทชนิดหมุนปรับทิศทางได้ และแบบชนิดหมุนปรับทิศทางไม่ได้ โดยส่วนใหญ่ล้อรถเข็นชนิดนี้นิยมใช้ติดตั้งกับเครื่องจักร และรถเข็นทั่วไป

ล้อรถเข็น แบบแผ่นเพลท ชนิดหมุนปรับทิศทางได้ (Caster Plate Type Swivel)

ล้อรถเข็น แบบแผ่นเพลท ชนิดหมุนปรับทิศทางได้ ล้อรถเข็นชนิดนี้มีลักษณะเป็นแผ่นเพลตอยู่ด้านบน มีรูเจาะ 4 รู ไว้สำหรับยึดเข้ากับชิ้นส่วนของเครื่องจักร รวมไปถึงแกนล้อสามารถหมุนได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมีวัสดุของลูกล้อให้เลือกใช้งานมากมายหลายชนิด ล้อรถเข็นชนิดนี้มักพบเห็นได้ทั่วไปในงานอุตสาหกรรมต่างๆ

ล้อรถเข็น แบบแผ่นเพลท ชนิดหมุนปรับทิศทางไม่ได้ (Caster Plate Type Fixed)

ล้อรถเข็น แบบแผ่นเพลท ชนิดหมุนปรับทิศทางไม่ได้ ล้อรถเข็นชนิดนี้มีลักษณะเป็นแผ่นเพลตอยู่ด้านบน มีรูเจาะ 4 รูไว้สำหรับยึดเข้ากับชิ้นส่วนของเครื่องจักร แต่แกนล้อไม่สามารถหมุนได้อย่างอิสระซึ่งหมายถึง ล้อชนิดนี้ใช้สำหรับควบคุมการเคลื่อนที่ในรูปแบบเคลื่อนที่ไปทางด้านหน้าหรือทางด้านหลังเท่านั้น โดยมีวัสดุของลูกล้อมีให้เลือกใช้งานมากมายหลายชนิด ล้อรถเข็นชนิดนี้มักจะใช้งานร่วมกับ ล้อรถเข็น แบบแผ่นเพลท ชนิดหมุนปรับทิศทางได้

ล้อรถเข็น ติดตั้งแบบสกรู (Screw-In Type)

ล้อรถเข็นติดตั้งแบบสกรู ล้อรถเข็นชนิดนี้ จะมีแท่งเกลียวโผล่ขึ้นมาจากบริเวณของฐานล้อรถเข็น ในส่วนของการใช้งานนั้นจะใช้ยึดกับโครงสร้างเครื่องจักรที่มีรูเกลียวอยู่ด้านล่าง หรืออาจจะใช้กับอลูมิเนียมโปรไฟล์ที่มีรูเกลียวอยู่บริเวณด้านล่างได้ด้วยเช่นกัน

ล้อรถเข็น แบบรูเจาะทะลุ (Castor Through Hole)

ล้อรถเข็นชนิดนี้ จะเห็นว่าบนแผ่นเพลตจะมีรูขนาดใหญ่ 1 รู ซึ่งมีไว้สำหรับร้อยโบลท์จากด้านล่างของฐานล้อรถเข็นเพื่อไปประกอบกับชิ้นงาน และใช้แหวนรองร่วมกับนัทเพื่อยึดล้อรถเข็นเข้ากับชิ้นงานที่ต้องการ โดยล้อรถเข็นรูปแบบนี้ มีให้เลือกหลากหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ล้อเป็น, ล้อตาย, ล้อแบบมีเบรค เป็นต้น

ล้อเข้ามุม (Corner Caster)

ล้อเข้ามุม เป็นล้อรถเข็นสำหรับประกอบเข้ามุม หากลองสังเกตุบริเวณแผ่นเพลทของล้อรถเข็นจะพบว่า แผ่นเพลทจะเป็นรูปร่างสีเหลี่ยมคางหมู ล้อรถเข็นชนิดนี้สามารถรับน้ำหนักได้ทั้งมากและน้อย โดยส่วนใหญ่นิยมใช้ติดตั้งร่วมกับตู้เหล็ก และรถเข็นดอลลี่

ล้อรถเข็นที่มาพร้อมกับ การ์ดป้องกันจากการเตะ (Castor With Toe Guard)

ล้อรถเข็นที่มาพร้อมกับ การ์ดป้องกันจากการเตะ ล้อรถเข็นชนิดนี้มีลักษณะแตกต่างจากล้อรถเข็นทั่วไป คือ มีโครงเหล็กที่คอยป้องกันผู้ใช้งานเดินเตะลูกล้อในขณะที่กำลังใช้งานรถเข็น ซึ่งไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน อีกทั้งยังมีรูปร่างหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานตามสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถถอดประกอบชุดการ์ดป้องกันได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

ลูกล้อคู่ (Dual Wheel Caster)

ลูกล้อคู่ ล้อรถเข็นชนิดนี้จะประกอบด้วยลูกล้อ 2 ลูก ซึ่งช่วยให้สามารถรองรับน้ำหนักต่อล้อได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มเสถียรในการเคลื่อนที่ได้อย่างราบรื่น ล้อชนิดนี้มักพบเห็นได้ทั่วไป ตัวอย่างเช่น กระเป๋าเดินทาง, รถเข็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นต้น

ลูกล้อลดเสียงรบกวน (Noise Reducing Caster)

ลูกล้อลดเสียงรบกวน ล้อชนิดทำมาจากวัสดุยางอ่อนนุ่ม ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับ และกระจายแรงกระแทกได้ดี จึงช่วยในการลดเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือนที่เกิดจากล้อรถเข็นได้ เหมาะสำหรับใช้ในอุปกรณ์การแพทย์ ตัวอย่างเช่น รถเข็นสเตนเลสในโรงพยาบาล เป็นต้น

ล้อบอลกลม (Ball Caster Wheel)

ล้อบอลเป็นลูกล้อชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างป็นทรงกลม มีวัสดุของล้อให้เลือกใช้ทั้งแบบยางและแบบพลาสติก ล้อชนิดนี้เหมาะสำหรับการรองรับชิ้นงานที่มีน้ำหนักไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น ใช้กับเก้าอี้สำนักงาน โต๊ะเครื่องแป้ง ราวตากผ้า และอื่นๆ ล้อชนิดนี้มีรูปแบบการติดตั้งของล้อให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ เช่น ติดตั้งด้วยการสวม ติดตั้งด้วยการขันสกรู เป็นต้น

แผ่นยางล็อคลูกล้อ (Caster Stopper)

แผ่นยางล็อคลูกล้อ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการล็อคล้อรถเข็นไม่ให้มีการเคลื่อนที่ ทำมาจากยางหรือแผ่นไม้ มีลักษณะเป็นเบ้าที่รองรับลูกล้อได้พอดี โดยส่วนใหญ่นิยมใช้กับล้อรถเข็นที่ไม่มีระบบห้ามล้อติดตั้งมาด้วย