สกรู (Screw)
สกรู เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการยึดวัตถุสองชนิดให้ติดกัน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับตะปู แต่สกรูจะมีเกลียวโดยรอบซึ่งมีส่วนช่วยให้สามารถยึดวัตถุได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างสกรูที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ สกรูปลายสว่าน, สกรูตัวหนอน, สกรูเกลียวปล่อย, สกรูงานไม้, สกรูสำหรับงานก่อสร้าง, สกรูหางปลา เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของหัวสกรูก็ยังมีให้เลือกอีกหลายรูปแบบ อาทิ หัวแฉก, หัวแบน, หัวสี่เหลี่ยม, หัวหกเหลี่ยม, หัวท็อกซ์ เป็นต้น
สกรูหัวหกเหลี่ยม (Hex Bolt)
สกรูหัวหกเหลี่ยม เป็นสกรูที่ส่วนหัวเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมตัน มีให้เลือกทั้งแบบเกลียวหยาบและเกลียวละเอียด รวมไปถึงมีวัสดุให้เลือกใช้งานหลายชนิด เช่น อลูมิเนียม, สเตนเลส, เหล็ก เป็นต้น ในส่วนของการใช้งานจะใช้ประแจหรือไขควงลูกบล็อกในการขันเข้ากับน็อต เพื่อประกอบชิ้นงานเข้าด้วยกัน สกรูชนิดนี้นิยมนำไปใช้ยึดชิ้นส่วนเครื่องจักรในอุตสาหกรรม, ชิ้นส่วนภายในรถยนต์, หน้าแปลนของงานระบบท่อ และอื่นๆ
สกรูหัวจมหกเหลี่ยม (Hex Socket Head Cap Screw)
สกรูหัวหกเหลี่ยมจม ลักษณะของหัวสกรูจะมีเบ้าหกเหลี่ยมอยู่บริเวณด้านบนของสกรู ผลิตจากวัสดุหลากหลายชนิด ซึ่งมีไว้สำหรับใช้งานร่วมกับประแจหกเหลี่ยม สกรูชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสหากรรมการผลิตหลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ตัวอย่างการใช้งานที่มักพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ยึดชิ้นส่วนโครงสร้างเครื่องจักร อาทิ อลูมิเนียมโปรไฟล์, ฉากเข้ามุมสำหรับอลูมิเนียมโปรไฟล์, แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก เป็นต้น
สกรูหางปลา (Wing Bolt)
สกรูหางปลา ลักษณะพิเศษของสกรูประเภทนี้คือ หัวสกรูจะมีครีบออกมาคล้ายกับหางปลา นิยมใช้ยึดชิ้นงานที่ต้องมีการถอดเข้าและถอดออกบ่อยครั้ง โดยใช้มือหมุนเข้าและคลายออก แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้งานเช่นกัน นั่นก็คือไม่เหมาะสำหรับติดตั้งในบริเวณที่มีการสั่นสะเทือนสูงและรับน้ำหนักชิ้นงานมากๆ ตัวอย่างการใช้งานสกรูหางปลาที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ทั่วไป, กลองชุดในบริเวณที่ต้องมีการปรับความสูงของขาตั้งอุปกรณ์ เป็นต้น
สกรูหัวท็อกซ์ (Torx Screw)
สกรูหัวท็อกซ์ หรือ สกรูหัวดาว เป็นสกรูชนิดพิเศษที่บริเวณหัวสกรูมีลักษณะเป็นดาวหกแฉก นิยมนำไปใช้ในงานประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์, ฮาร์ดดิส, และอื่นๆ ในส่วนของวิธีการถอดสกรูหัวท็อกซ์นั้น ต้องใช้ไขควงชนิดพิเศษที่มีหัวลักษณะแบบเดียวกัน นอกจากนี้สกรูหัวท็อกซ์ ยังมีให้เลือกด้วยกัน 2 ชนิด คือ แบบมีพินกลมตรงกลางและแบบไม่มีพินกลมตรงกลางบริเวณดาว
สกรูหัวท็อกซ์แบบนิรภัย (Security Torx Screw)
สกรูหัวท็อกซ์แบบนิรภัย จะมีจุดแตกต่างจากสกรูหัวท็อกซ์เล็กน้อยคือ จะมีพินกลมอยู่ตรงกลางหัวดาว ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้ไขควงทั่วไปขันออกได้ สกรูชนิดนี้นิยมใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ทางผู้ผลิตต้องการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานถอดสกรูตรงบริเวณนี้ออก ตัวอย่างเช่น Power Supply ของอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เป็นต้น
สกรูปลายสว่าน (Self Drilling Screw)
สกรูปลายสว่าน เป็นสกรูที่มีลักษณะพิเศษ คือ ปลายหัวสกรูมีลักษณะเป็นดอกสว่าน ทำให้สามารถเจาะยึดเข้ากับชิ้นงานโดยไม่จำเป็นต้องใช้สว่านเจาะรู ส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุเหล็กหรือสแตนเลสเคลือบ สกรูชนิดนี้นิยมใช้ยึดแผ่นหลังคา, แผ่นเหล็กบาง, บานพับ และงานอื่นๆ ในอุตสาหกรรมทั่วไป แต่ไม่เหมาะกับการเจาะเพื่อยึดไม้ นอกจากนี้ยังมีหัวสกรูให้เลือกสรรมากมาย ตัวอย่างเช่น หัวเตเปอร์, หัวหกเหลี่ยมติดซีลยาง, หัวบัททอนหรือหัวเวเฟอร์ เป็นต้น
สกรูปลายสว่านแบบมีปีก (Self Drilling Screw With Wing)
สกรูปลายสว่านแบบมีปีก จะแตกต่างจากสกรูปลายสว่านเล็กน้อย คือ บริเวณส่วนปลายของสกรูจะมีปีกขนาดเล็กยื่นออกมาจากด้านข้าง ซึ่งปีกที่ยื่นออกมาจะมีส่วนช่วยคว้านเนื้อวัสดุ อีกทั้งมีช่วยลดการแตกหักของเนื้อวัสดุได้ดีในขณะเจาะรูบนชิ้นงาน สกรูชนิดนี้ส่วนใหญ่ใช้ยึด ไม้ฝาเข้ากับโครงเหล็กโดยไม่จำเป็นต้องใช้สว่านเจาะนำ เช่น ไม้ฝาเฌอรา, ไม้อัด, แผ่นยิปซั่มบอร์ด เป็นต้น
สกรูเกลียวปล่อย (Self Tapping Screw)
สกรูเกลียวปล่อย รูปร่างของสกรูชนิดนี้จะมีเกลียวตลอดแนวความยาว และบริเวณปลายของสกรูจะมีลักษณะเป็นปลายแหลม ซึ่งแตกต่างจากสกรูปลายสว่านที่มีส่วนปลายเป็นลักษณะของดอกสว่าน สำหรับการเจาะและยึดวัสดุชนิดต่างๆ เข้าด้วยกัน มักนิยมใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถถอดประกอบ และพุกพลาสติก ในส่วนของการใช้งานสามารถใช้ไขควงธรรมดา/ไฟฟ้า ไขและคลายออกได้ที่บริเวณหัวสกรูได้ทันที นอกจากนี้ยังมีวัสดุของสกรูให้เลือกใช้งานมากมาย อาทิ เหล็ก, เหล็กชุบรุ้ง, สเตนเลส เป็นต้น
สกรูตัวหนอน (Hex Socket Set Screw)
สกรูตัวหนอน เป็นสกรูที่มีลักษณะเป็นแกนเกลียวตลอดความยาว และไม่มีหัวยื่นออกมาจากตัวสกรู ซึ่งสามารถที่จะขันสกรูฝังเข้าไปในเนื้อวัสดุได้เลย นอกจากนี้ยังมีปลายสกรูหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานด้วยเช่นกัน ในส่วนของการใช้งาน มักจะใช้งานร่วมกับประแจหกเหลี่ยมสำหรับขันเข้าและคลายออกที่บริเวณด้านบนของสกรู สกรูชนิดนี้นิยมใช้ยึดชิ้นส่วนของเครื่องจักร ตัวอย่างเช่น เฟืองกับเพลา, เฟืองโซ่กับเพลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นได้ในงานเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย
สกรูงานไม้ (Wood Screw)
สกรูงานไม้ เป็นสกรูที่ใช้กับงานไม้โดยเฉพาะ ลักษณะของสกรูจะมีเกลียวแค่เพียงครึ่งเดียวของความยาวทั้งหมด และบริเวณปลายของสกรูจะมีความคมมากกว่าสกรูเกลียวปล่อยแบบทั่วไป เมื่อลองสังเกตุดูที่บริเวณปลายหัวสกรูจะพบว่า บริเวณปลายเกลียวมีรอยบากอยู่เล็กน้อย ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเจาะและประสิทธิภาพในการยึดวัสดุ มีให้เลือกทั้งแบบเกลียวหยาบซึ่งเหมาะกับการยึดไม้ทั่วไป และเกลียวละเอียดซึ่งเหมาะกับการยึดไม้ที่แตกหักง่ายหรือใช้ยึดบริเวณส่วนปลายของไม้
สกรูก่อสร้าง (Construction Screw)
สกรูก่อสร้าง มีอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่จะนำไปใช้ยึดติด และวัสดุที่ใช้ในการผลิตสกรูอีกด้วย หากเลือกกใช้สกรูผิดชนิดก็อาจจะส่งผลให้การยึดชิ้นงานนั้นไม่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ตัวอย่างสกรูก่อสร้างที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ได้แก่ สกรูปลายสว่านสำหรับยึดฟนังเบาและไม้ฝาสำเร็จรูป, สกรูเกลียวปล่อยใช้สำหรับยึดโครงไม้, สกรูสำหรับยิงฝ้า นอกจากจะใช้ยิงฝ้าแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ยึดรางสังกะสีหรือโครงซี-ไลน์ เป็นต้น ซึ่งสกรูที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สามารถใช้งานร่วมกับไขควงไฟฟ้าในการขันเข้าและคลายออกได้
สกรูยึดฝ้าเพดาน (Drywall Screws)
สกรูยึดฝ้าเพดาน หรือ สกรูแผ่นเรียบ เป็นสกรูสำหรับยึดฝ้าโดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่จะใช้ยึด ฝ้ายิปซั่มบอร์ดฉาบเรียบหรือฝ้าเพดาน, แผ่นสมาร์ทบอร์ด,ไดมอนด์บอร์ด เข้ากับ แปไม้ และโครงโลหะหรือโครง C-Line เป็นต้น ในส่วนของการใช้งาน สามารถใช้สกรูชนิดนี้เจาะได้เลยโดยไม่ต้องเจาะรูนำมักใช้งานร่วมกับไขควงไฟฟ้า
สกรูหัวพลาสติก
สกรูหัวพลาสติก หรือ สกรูหัวลูกบิดพลาสติก มีการใช้งานคล้ายกับสกรูหางปลา แต่สกรูหัวพลาสติกนั้นจะมีหัวพลาสติกขนาดใหญ่ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่การจับเพื่อหมุนปรับระดับความแน่นของการยึดชิ้นงาน อีกทั้งมีรูปร่างของหัวบิดพลาสติกให้เลือกสรรมากมาย สกรูชนิดนี้นิยมใช้กับงานออกแบบที่ต้องมีการหมุนปรับระดับความสูง หรือความแน่นในการยึดของชิ้นงาน ตัวอย่างเช่น ขาตั้งกล้อง เป็นต้น
ฝาปิดหัวสกรู
ฝาปิดหัวสกรู เป็นอุปกรณ์สำหรับป้องกันความเสียหายให้กับหัวสกรูและโบลท์ และเพิ่มความสวยงามให้กับบริเวณที่มีการติดตั้ง มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานเช่น แบบฝาเปิดและปิดได้ แบบจุกพลาสติกครอบบริเวณหัว เป็นต้น
น็อต (Nut)
น็อต หรือหลายคนอาจจะเรียกกันว่า น็อตตัวเมีย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับโบลท์ มีรูปทรงหลากหลายรูปแบบ แต่มีจุดที่เหมือนกันคือ มีรูปตรงกลางและมีร่องเป็นเกลียวอยู่ภายใน มีไว้สำหรับหมุนเข้ากับโบลท์เพื่อยึดจับชิ้นงาน น็อตที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมมีชนิด ตัวอย่างเช่น น็อตหกเหลี่ยม, น็อตหัวหมวกหรือหัวโดม, น็อตหัวผ่า, น็อตหางปลา, น็อตล็อค, น็อตสำหรับงานเชื่อม, น็อตสำหรับยึด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวัสดุให้เลือกใช้อีกมากมาย อาทิ เหล็ก, อลูมิเนียม, สเตนเลส, ไทเทเนียม เป็นต้น
น็อตหกเหลี่ยม (Hex Nut)
น็อตหกเหลี่ยม เป็นน็อตที่พบเห็นได้ทั่วไปในอุตสาหกรรม นิยมใช้ในการยึดชิ้นส่วนของเครื่องจักร, แผ่นเหล็ก และอื่นๆ มีรูปทรงเป็นหกเหลี่ยม มีรูตรงกลางและมีเกลียวอยู่ภายใน มักจะใช้งานร่วมกับโบลท์และแหวนรอง ในส่วนของวิธีการใช้งาน มักจะใช้เป็นตัวล็อคให้กับโบลท์ สามารถหมุนเข้าและออกได้โดยการใช้ประแจหรือชุดลูกบล๊อคหกเหลี่ยมขันเข้าและคลายออก นอกจากนี้ยังมีวัสดุให้เลือกใช้งานอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น เหล็ก, อลูมิเนียม, สเตนเลส, ไทเทเนียม เป็นต้น
น็อตสี่เหลี่ยม (Square Nut)
น็อตสี่เหลี่ยม ลักษณะภายนอกเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม และตรงกลางมีรูร่องเกลียวสำหรับหมุนเข้ากับโบลท์ น็อตชนิดนี้ใช้สำหรับยึดในบริเวณที่แคบที่ประแจไม่สามารถเข้าไปจับตัวน็อตได้ โดยสามารถใช้คีมปากแหลมเป็นตัวจับน็อตแทนได้ นิยมใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
หัวน็อตฝังไม้ (T-Nut)
หัวน็อตฝังไม้ หรือ ทีนัท เป็นน็อตที่นิยมใช้กันมากในงานไม้ มีลักษณะพิเศษ คือ จะมีเขี้ยวแหลมคมที่โพล่มาจากฐานรองของน็อตโดยทั่วไปจะมี ประมาณ 3-4 เขี้ยว เมื่อขันน็อตตัวผู้จนสุด เขี้ยวของหัวน็อตจะฝังติดกับเนื้อไม้อย่างแน่นหนา โดยส่วนใหญ่มักจะใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ และยึดติดดอกลำโพงของเครื่องเสียง เป็นต้น
น็อตคัปปลิ้ง (Coupling Nut)
น็อตคัปปลิ้ง หรือ น็อตต่อขยาย น็อตชนิดนี้จะมีความสูงมากกว่าน็อตชนิดอื่นๆ มีรูเกลียวทะลุถึงกันทั้งสองด้าน มีไว้ใช้สำหรับเชื่อมน็อตตัวผู้เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นตัวแปลงขนาดของโบลท์จากใหญ่ไปเล็ก หรือจากเล็กไปใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีรูปร่างให้เลือกใช้ทั้งแบบแท่งกลม และแบบแท่งหกเหลี่ยม
น็อตเชื่อม (Weld Nut)
น็อตเชื่อม น็อตชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกับน็อตหกเหลี่ยมทั่วไป แต่แตกต่างกันเล็กน้อย คือ บริเวณมุมของน็อตจะมีส่วนที่ยื่นออกมา เพื่อใช้เป็นจุดสำหรับเชื่อมติดกับวัสดุ หรืออาจจะมีบ่าเพื่อช่วยในการกำหนดตำแหน่งให้ทำได้ง่ายขึ้น น็อตชนิดนี้นิยมใช้ในงานเชื่อมเหล็กและงานเชื่อมสเตนเลส สำหรับประโยช์ของน็อตชนิดนี้ คือ มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโลหะได้มากขึ้นในบริเวณที่มีความหนาน้อย
น็อตล็อค (Lock Nut)
น็อตล็อค เป็นน็อตที่ใช้งานร่วมกับโบลท์เพื่อป้องกันการคลายตัว อันเนื่องมาจากแรงสั่นสะเทือนของเครื่องจักร มีหลายชนิดที่นิยมใช้งานในอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น น็อตล็อคแหวนไนลอน, แจมน็อต, น็อตล็อคสโตเวอร์, น็อตล็อคแบบสองทิศทาง, น็อตล็อคหน้าแปลนหยัก, น็อตล็อคทรงปราสาท เป็นต้น
แจมน็อตหรือน็อตหกเหลี่ยมแบบบาง (Jam Nut)
แจมน็อต หรือ น็อตหกเหลี่ยมแบบบาง มีลักษณะเหมือนกับน็อตหกเหลี่ยมทั่วไปที่ใช้ในอุตสาหกรรม แต่ความหนาของตัวน็อตนั้นจะน้อยกว่าน็อตทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง ในส่วนของการใช้งานนั้นจะใช้งานร่วมกับน็อตหกเหลี่ยมปกติ โดยทำการขันแจมน็อตเข้าไปก่อนแล้วจึงตามด้วยน็อตหกเหลี่ยม ก็จะช่วยไม่ให้น็อตเกิดการคลายตัวจากแรงสั่นสะเทือน ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบเกลียววนซ้ายและเกลียววนขวา
น็อตติดแหวนจักรชนิดกันคลาย หรือ เคปนัท (Keps K-Lock Nut)
น็อตติดแหวนจักรชนิดกันคลาย หรือ เคปนัท น็อตชนิดนี้มีลักษณะพิเศษ คือ จะมีแผ่นเหล็กบางที่มีรูปร่างเป็นฟันเฟืองซึ่งสามารถหมุนได้อย่างอิสระยื่นออกมา ในส่วนของการใช้งานให้ขันน็อตชนิดนี้จนกว่าจะไม่สามารถหมุนเฟืองได้ แต่ไม่ควรขันจนแน่นเกินไป เพราะจะทำให้กลไกภายในของน็อตพัง และไม่สามารถป้องกันการสั่นสะเทือนได้อีกต่อไป
น็อตล็อคสองทาง (Two-Way Lock Nut)
น็อตล็อคสองทาง น็อตชนิดนี้มีหน้าตาคล้ายกับน็อตหกเหลี่ยมทั่วไป แต่เมื่อสังเกตุด้านข้างของตัวน็อตจะพบว่า มีรอยปั๊มตรงกลางเป็นรูปวงกลมส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ว่าจะขัดโบลท์ยึดทางไหนก็ตามก็จะสามารถล็อคโบลท์ได้ทั้งสองด้าน
น็อตหัวหมวก (Domed /Acorn Nut)
น็อตหัวหมวก หรือ น็อตหัวโดม ลักษณะเด่นของน็อตชนิดนี้ คือ มีรูปร่างเป็นครึ่งทรงกลมปิดลักษณะคล้ายกับโดม ภายในมีเกลียวเหมือนน็อตทั่วไป นิยมใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการตกแต่งให้บริเวณส่วนปลายของโบลท์ที่เกินออกมีความสวยงามมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ใช้ยึดผนังกั้นราวจับบนสะพาน งานท่อในอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้น็อตหัวหมวกยังมีประโยชน์ทางอ้อม คือ ช่วยคงสภาพเกลียวบริเวณส่วนปลายของโบลท์ที่ยึดไว้ ไม่ให้เกิดความเสียหายจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้อีกด้วย
น็อตหัวผ่า (Slotted Nut)
น็อตหัวผ่า มีลักษณะคล้ายกับน็อตหกเหลี่ยม แต่บริเวณส่วนหัวของน็อตนั้นจะถูกผ่าออกเป็นแฉกๆ ที่มีร่องขนาดเท่ากัน โดยน็อตชนิดนี้นิยมใช้งานร่วมกับคอตเตอร์พิน ซึ่งเมื่อขันน็อตจนแนบสนิทกับผิวชิ้นงานแล้ว ให้สอดคอตเตอร์พินทะลุผ่านสกรูชนิดพิเศษที่มีรูเจาะทะลุผ่านบริเวณเกลียว และทำการหมุนปรับน็อตหัวผ่าเล็กน้อยเพื่อให้คอตเตอร์พิน วางตัวอยู่บนร่องของน็อตหัวผ่าได้พอดี ซึ่งช่วยป้องกันการคลายตัวของน็อตได้เป็นอย่างดี
น็อตหัวปราสาท (Castellated Nut)
น็อตหัวปราสาท มีการใช้งานและลักษณะคล้ายกับน็อตหัวผ่า แต่มีรูปร่างแตกต่างกันเล็กน้อย คือ บริเวณส่วนหัวของน็อตจะเป็นรูปวงกลมที่ถูกผ่าออกเป็น 6 ส่วนเท่าๆกัน และบริเวณร่องของน็อตนั้นจะมีลักษณะเป็นผิวโค้งที่รองรับกับคอตเตอร์พินได้พอดี ในบางครั้งสามารถใช้แทนน็อตหัวผ่าได้ นิยมใช้สำหรับการยึดเพลาของล้อรถ เป็นต้น
น็อตล็อคแหวนไนลอน (Self Lock Nut)
น็อตล็อคแหวนไนลอน น็อตล็อคชนิดนี้หากสังเกตุดูดีๆ จะพบว่ามีแหวนไนลอนอยู่ภายใน ซึ่งเมื่อทำการขันโบลท์เข้าไปแล้ว เมื่อตัวโบลท์เคลื่อนที่ทะลุผ่านแหวนไนลอน จะเกิดแรงกดบริเวณรอบเกลียว ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้โบลท์หลุดออกจากเครื่องจักรอันเนื่องมากจากแรงสั่นสะเทือน แต่ก็ต้องระวังในส่วนของอุณหภูมิที่ใช้งานด้วยเช่นกัน
น็อตสำหรับยึด (Cage Nut)
น็อตสำหรับยึด เป็นน็อตที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาของชิ้นงานที่มีการทำสี ในบางครั้งหากสีติดอยู่ที่บริเวณเกลียวก็จะส่งผลให้การขันสกรูเข้ากับชิ้นงานทำได้ยาก ด้วยลักษณะพิเศษของน็อตชนิดนี้ คือ ด้านหลังของน็อตจะมีขาหลังเป็นแผ่นเหล็กบางที่ถูกพับไว้ มีลักษณะเป็นขาเกี่ยว ใช้สำหรับยึดเกาะกับช่องสี่เหลี่ยมของชิ้นงาน จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องทำเกลียวบนชิ้นงานก่อนการพ่นสี น็อตชนิดนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้กับตู้หรือชั้นวางของที่สามารถปรับระดับได้ และ ตู้เซิฟเวอร์
น็อตหางปลา (Wing Nut)
น็อตหางปลา มีลักษณะพิเศษคือ หัวน็อตจะมีครีบออกมาลักษณะคล้ายกับหางปลา มีการใช้งานเหมือนกับสกรูหางปลา ในการขันเข้าและคลายออกนั้นสามารถใช้แรงจากมือได้อย่างสะดวกสบาย แต่ไม่เหมาะกับงานที่มีการสั่นสะเทือนสูงและงานที่ต้องรับโหลดในปริมาณมาก น็อตชนิดนี้ส่วนใหญ่นิยมใช้กับงานที่ต้องมีการขันเข้าและคลายออกบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น งานเฟอร์นิเจอร์, อุปกรณ์กลองชุด, อุปกรณ์ที่ใช้ในเรือ เป็นต้น
น็อตหน้าแปลนหกเหลี่ยมแบบมีฟัน (Serrated Flange Lock Nut)
น็อตหน้าแปลนหกเหลี่ยมแบบมีฟัน น็อตชนิดนี้จะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากน็อตหกเหลี่ยมแบบมีบ่าตรงที่ ด้านล่างของบ่าจะมีลักษณะเป็นร่องคล้ายฟันปลากระจายอยู่รอบๆ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มพื้นที่ผิวในการยึดเกาะกับชิ้นงาน โดยส่วนใหญ่นิยมใช้ในการยึดแผ่นโลหะบาง
น็อตขึ้นลาย (Knurled Nut)
น็อตขึ้นลาย น็อตชนิดนี้บริเวณหัวน็อตจะมีการพิมพ์ลายเป็นเส้นๆ เพื่อความสวยงาม ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถใช้มือหมุนได้อย่างสะดวกสบาย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ นิยมใช้กับงานที่ต้องถอดประกอบ และขนย้ายบ่อยๆ อีกทั้งยังสามารถใช้กับงานที่ต้องการปรับเพิ่ม/ลด ความแน่นหนาของการล็อคได้อีกด้วย
ทีน็อต (T-Nut)
ทีน็อต เป็นน็อตที่มีรูปร่างคล้ายกับตัว T มีความแข็งแรงสูง นิยมใช้งานร่วมกับอลูมิเนียมโปรไฟล์ ตัวอย่างเช่น ใช้สำหรับยึด Bracket เข้ามุมของโครงสร้างเครื่องจักร ในส่วนของการใช้งานนั้นให้ใส่ทีน็อตเข้าไปที่บริเวณปลายที่เปิดอยู่ของร่องอลูมิเนียมโปรไฟล์เท่านั้น และมีข้อควรระวัง คือไม่สามารถติดตั้งทีน็อตได้หลังจากประกอบโครงสร้างของเครื่องจักรเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว
บอลสปริงทีน็อต (Ball Spring T-Nut หรือ Insert Spring T-Nut)
บอลสปริงทีน็อต เป็นน็อตอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้งานกับอลูมิเนียมโปรไฟล์ ซึ่งมีการใช้งานเหมือนกับฟรีน็อต คือ สามารถประกอบน็อตตัวนี้เพื่อยึดชิ้นงานเพิ่มเติมหลังประกอบโครงสร้างเครื่องจักรได้ แต่คุณสมบัติเด่นที่เพิ่มเข้ามา คือ น็อตชนิดนี้สามารถที่จะล็อคตำแหน่งของตัวเองได้ โดยใช้ลูกบอลเหล็กที่ติดตั้งอยู่ภายใน ทำให้สามารถกำหนดตำแหน่งที่ต้องการจะติดตั้งได้สะดวกสบายกว่าฟรีน็อต
ฟรีน็อต (Free-Nut)
ฟรีน็อต เป็นน็อตอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้งานกับอลูมิเนียมโปรไฟล์ ซึ่งแตกต่างจากทีน็อตตรงที่มีขนาดที่เล็กกว่า ในส่วนของการใช้งานนั้น ฟรีน็อตจะสามารถใส่เข้าไปในร่องของอลูมิเนียมโปรไฟล์ได้ทุกตำแหน่ง เพราะขนาดเล็กพอดีกับร่อง และเมื่อขัดน็อตยึดกับอุปกรณ์จนสุด ตัวฟรีน็อตจะถูกบิดให้ล็อคอยู่กับร่องของอลูมิเนียมโปรไฟล์พอดี
แหวนรอง (Washer)
แหวนรองหรือแหวนรองกันคลาย เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นวงกลมมีรูตรงกลาง มักจะใช้งานร่วมกับโบลท์และนัท แหวนรองทำหน้าที่เป็นตัวช่วยป้องกันการคลายตัวที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ที่ถูกโบลท์และนัทยึดไว้ ในอุตสาหกรรมมีแหวนรองหลายชนิดให้เลือกใช้งานมากมาย ตัวอย่างเช่น แหวนรองแบนหรือแหวนอีแปะ, แหวนสปริง, แหวนรองล็อกฟันภายใน/ฟันภายนอก เป็นต้น อีกทั้งวัสดุที่ใช้ในการผลิตก็มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน อาทิ อลูมิเนียม, ทองเหลือง, บรอนซ์ซิลิกอน, สเตนเลส
แหวนแบน (Flat Washer)
แหวนแบน หรือ แหวนอีแปะเป็นแหวนที่นิยมใช้กันมากที่สุดในอุตสาหกรรมทุกชนิด มีลักษณะเป็นวงกลมมีรูตรงกลาง ส่วนใหญ่มักจะใช้งานร่วมกับโบลท์ละน็อต ทำหน้าที่ป้องกันการคลายตัวของน็อตที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร และมีประโยชน์ทางอ้อมคือ ช่วยป้องกันรอยที่เกิดจากการขันโบลท์ให้แน่นชิดติดกับผิวของวัสดุ นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานร่วมกับแหวนสปริงได้อีกด้วย
แหวนสปริง (Spring Washer)
แหวนสปริง มีลักษณะเป็นวงแหวนที่ถูกตัดบิดขึ้นเล็ก ทำให้ขอบไม่เสมอกัน โดยแหวนสปริงจะช่วยป้องกันการคลายเกลียวของน็อตได้ดีกว่าแหวนอีแปะ ซึ่งนิยมใช้ในการยึดชิ้นส่วนเครื่องจักรในบริเวณที่มีการสั่นสะเทือนอยู่บ่อยๆ และชิ้นงานเหล็กอันเนื่องมาจากเหล็กมีการหดและขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานร่วมกับแหวนอีแปะได้ดีอีกด้วย
แหวนอีแปะใหญ่ (Fender Washer)
แหวนอีแปะใหญ่ แหวนชนิดนี้จะมีหน้าตาคล้ายกับแหวนอีแปะ แต่มีจุดแตกต่างกันคือ แหวนชนิดนี้จะมีเส้นผ่านศูนย์ภายในค่อนข้างเล็กแต่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกที่ใหญ่เป็นพิเศษ ทำให้สามารถสัมผัสกับผิวของวัตถุได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับแหวนอีแปะ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้แหวนชนิดนี้สามารถรับภาระโหลดได้มากกว่าแหวนอีแปะ แหวนชนิดนี้นิยมใช้ในการยึดป้าย, ผนังยิปซั่ม, ปั๊มน้ำ, แผ่นโลหะบาง และอื่นๆ
แหวนรองล็อคฟันภายใน (Internal Tooth Lock Washer)
แหวนรองล็อคฟันภายใน แหวนรองชนิดนี้จะมีฟันอยู่ภายในวงแหวน ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการคลายตัวของน็อตและโบลท์จากแรงสั่นสะเทือน ด้วยลักษณะของแหวนล็อคที่มีฟันอยู่ภายใน เมื่อขันล็อคชิ้นงานแน่นมาก จะส่งผลให้ผิวของโบลท์มีรอยเกิดขึ้นจากการถูกบีบอัดด้วยของน็อตที่ขันแน่น
แหวนรองล็อคฟันภายนอก (External Tooth Lock Washer)
แหวนรองล็อคฟันภายนอก แหวนรองชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกับเฟือง ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการคลายตัวของน็อตและโบลท์จากแรงสั่นสะเทือน ด้วยลักษณะของแหวนล็อคที่มีฟันอยู่ภายนอก มีพื้นที่ในการยึดเกาะผิวมากกว่าแบบภายใน ส่งผลให้ผิวชิ้นงานมีรอยเกิดขึ้นจากการถูกบีบอัดด้วยโบลท์และน็อต
แหวนรองเก็บผิวชิ้นงาน (Finishing Washer หรือ Countersunk Washer)
แหวนรองเก็บผิวชิ้นงาน แหวนรองชนิดนี้ ใช้สำหรับตกแต่งรูปลักษณะภายนอกให้มีความสวยงาม มีลักษณะเป็นเหมือนกับจานคว่ำมีรูตรงกลาง เมื่อขันสกรูเข้าไปแล้วหัวสกรูจะอยู่บริเวณผิวของแหวนรองได้พอดี นิยมใช้กับงานไม้และเฟอร์นิเจอร์
แหวนรองสี่เหลี่ยม (Square Washer)
แหวนรองแบบสี่เหลี่ยมถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการหมุนและใส่ได้พอดีในพื้นที่จำกัด มักจะใช้ในงานที่มีภาระโหลดมากและมีพื้นที่ผิวสัมผัสมาก รวมทั้งยังทำหน้าที่ช่วยเป็นแผ่นรองให้กับวัสดุอีกด้วย ส่วนใหญ่แหวนรองชนิดนนี้มักจะใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง, อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรมยานยนต์
แหวนเตเปอร์ (Beveled Washer)
แหวนเตเปอร์ เป็นแหวนที่มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมที่มีความลาดเอียงไปในทิศทางหนึ่ง แหวนชนิดนี้นิยมใช้ในพื้นที่ผิวที่ไม่เรียบเสมอกันหรือมีความต่างระดับกันเล็กน้อย โดยอาศัยความลาดเอียงของแหวนเป็นตัวปรับแนวระนาบ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพบเห็นได้ในงานก่อสร้าง เช่น ใช้ในบริเวณคานเหล็ก เป็นต้น
แหวนรองแบบมีบ่า (Shoulder Washer)
แหวนรองแบบมีบ่า จะเห็นได้ว่าตัวแหวนรองจะลักษณะเป็น 2 สเต็ปคือ มีบ่าสำหรับรองรับหัวโบลท์และบ่าสำหรับวางทับบนชิ้นงาน โดยส่วนใหญ่แหวนชนิดนี้จะใช้สำหรับเป็นฉนวนทางฟ้า ซึ่งผลิตมาจากพลาสติกจำพวก ไนลอน, PCTFE, PTFE เป็นต้น
แหวนรองรูปตัว C (C-washer)
แหวนรองรูปตัว C แหวนรองชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นแหวนแบนราบกับพื้น และมีช่องที่ตัดจากรูตรงกลางทำให้มีลักษณะคล้ายกับรูปตัว C แหวนชนิดนี้ใช้สำหรับการถอดประกอบโบลท์และเพลา ข้อดีของแหวนชนิดนี้คือ ไม่จำเป็นต้องถอดน็อตยึดออกทั้งหมดเพื่อถอดหรือเปลี่ยนแหวนรอง แค่ทำการคลายบางส่วนก็สามารถที่จะปรับหรือเปลี่ยนขนาดของแหวนรองได้แล้ว
ตะปู
ตะปู เป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้สำหรับยึดวัสดุสองชนิดเข้าด้วยกันโดยที่ไม่ได้เจาะรูไว้ล่วงหน้า รวมไปถึงสามารถใช้ตรึงวัสดุได้เช่นกัน นิยมใช้งานร่วมกับค้อนและเครื่องยิงตะปูแบบลมอัด โดยตะปูจะมีลักษณะเป็นแท่งโลหะปลายแหลมไม่มีเกลียว ซึ่งสามารถแบบตามการใช้งานและรูปร่างได้ออกเป็นหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ตะปูสองหัว, ตะปูสำหรับงานสังกะสี, ตะปูสำหรับงานเจาะคอนกรีต, ตะปูลม เป็นต้น
ตะปูสองหัว (Duplex Nail)
ตะปูสองหัว มีความแข็งแรงเหมือนกับตะปูแบบทั่วไป แต่มีลักษณะพิเศษของตะปูชนิดนี้ คือ จะมีหัวตะปูอยู่ด้วยกัน 2 ชุด โครงสร้างแบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ ให้ผู้ใช้งานสามารถที่จะถอนตะปูชนิดนี้ออกได้อย่างง่ายดาย โดยการสอดค้อนหรือชะแรงเข้าไปบริเวณช่องว่างระหว่างหัวของตะปู และงัดออกได้ทันที ตะปูชนิดนี้นิยมใช้สำหรับการยึดโครงสร้างชั่วคราว เช่น เหล็กค้ำ นั่งร้าน เป็นต้น
ตะปูสำหรับงานสังกะสี
ตะปูสำหรับงานสังกะสี หรือ ตะปูยึดหลังคา ลักษณะพิเศษของตะปูรูปแบบนี้ คือ ส่วนหัวของตะปูมีขนาดใหญ่คล้ายกับร่ม ซึ่งบางคนก็อาจจะเรียกกันว่า “ตะปูหัวร่ม” ลักษณะของหัวตะปูรูปแบบนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการแตกหักของหลังคาเมื่อทำการตอกตะปูลงไปจนสุด และหากสังเกตุบริเวณใกล้กับหัวของตะปูจะพบว่า มีรอยบากขนาดเล็กซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการยึดหลังคากับตะปูให้มีความแน่นคงทนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ตะปูบางรุ่นอาจจะมีแผ่นยาง (Seal) ประกอบมาด้วยซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วซึมของน้ำที่ไหลผ่านทางรูตะปูได้ดีอีกด้วย
ตะปูเข็ม หรือ ตะปูหัวเล็ก
ตะปูเข็ม หรือ ตะปูหัวเล็ก ตะปูชนิดนี้เป็นตะปูขนาดเล็ก ที่เมื่อตอกลงไปบนวัสดุแล้วจะไม่เห็นส่วนหัวของตะปู เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความสวยงาม ตะปูชนิดนี้ใช้สำหรับงานประดิษฐ์หรืองาน DIY เช่น การทำกระทง, ยึดกรอบรูป เป็นต้น
ตะปูสำหรับงานเจาะคอนกรีต (Masonry nail หรือ Concrete Steel Nail)
ตะปูสำหรับงานเจาะคอนกรีต มีจุดสังเกตุที่สามารถเห็นได้ชัดเจนเลย คือ ลักษณะภายนอกของตะปูจะเป็นร่องๆ ตลอดแนวยาวซึ่งช่วยให้เจาะทะลุคอนกรีตและอิฐบล็อกได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ตะปูชนิดนี้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับตะปูชนิดอื่นๆ เพราะผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณสมบัติของเหล็กกล้าโดยการใช้กรรมวิธีทางความร้อน เพื่อทำให้ตะปูมีความแข็งแรงมากกว่าตะปูชนิดอื่นๆ
ตะปูสำหรับเครื่องยิงตะปูลม
ตะปูสำหรับเครื่องยิงตะปูลม นั้นจะมีรูปร่างของชุดตะปูที่แตกต่างกันออกไปหลายแบบ ตัวอย่างเช่น ตะปูติดกันเป็นแพ, ตะปูยึดติดกันเป็นม้วน เป็นต้น ซึ่งมีชนิดของตะปูให้เลือกใช้มากมาย ตัวอย่างเช่น ตะปูยิงไม้, ตะปูยิงคอนกรีต เป็นต้น