ประแจเลื่อน (Monkey Wrench)
เครื่องมือนี้มีลักษณะเด่นที่ปากประแจคล้ายรูปทรงตัวยู (U) หรือทรงหกเหลี่ยม โดยจะประกอบด้วยปากอยู่กับที่ ปากเคลื่อนที่ และมีสกรูปรับที่สามารถหมุนเลื่อนเข้า-ออกเพื่อปรับระยะห่างของปากประแจให้กว้างพอเหมาะกับแป้นของสกรูหรือน็อตที่ต้องการขันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทนต่อแรงดึง – แรงบิด และล็อคได้แน่น จึงเป็นที่นิยมใช้สำหรับขันและยึดจับหัวสกรู น็อต และสลักเกลียวที่มีหลากหลายขนาด เช่น งานถอดประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น
ประแจจับท่อ (Pipe Wrench)
โครงสร้างหลักของเครื่องมือมีลักษณะคล้ายกับตัวพี (P) โดยมีกลไกการทำงานเหมือนกับประแจเลื่อน แต่ปากประแจจะมีความลึกและความกว้างมากกว่า และด้านในปากประแจประกอบไปด้วยซี่ฟันแหลมขนาดเล็กทั้งสองฝั่ง ทำให้ปากประแจสามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับขนาดของวัตถุและยังช่วยยึดจับวัตถุผิวเรียบให้แน่นหนายิ่งขึ้น จึงเป็นเครื่องมือที่นิยมนำไปใช้ในงานยึดจับท่อและข้อต่อต่างๆ เช่น ท่อประปา ท่อโลหะ เป็นต้น
ประแจปากตายคู่ (Double Open End Wrench)
ด้ามจับและปากประแจมีลักษณะแบน ส่วนปากประแจทั้งสองด้านจะเปิดมีรูปทรงคล้ายกับตัวยู (U) โดยแต่ละฝั่งเบอร์จะแตกต่างกัน และในส่วนของการขันระหว่างใช้งานจะอยู่ในมุมประมาณ 15 องศา ซึ่งเป็นกลไกทำงานที่ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย และใช้งานในที่แคบได้ดี เนื่องจากมีให้เลือกใช้หลายขนาด จึงเหมาะสำหรับใช้ในงานช่างและงานซ่อมบำรุงทั่วไป เช่น ประกอบและซ่อมเครื่องยนต์ เป็นต้น
ประแจปากตายเดี่ยว (Single Open End Wrench)
ลักษณะของโครงสร้างและการใช้งานคล้ายกับประแจปากตายคู่ เพียงแต่จะแตกต่างกันตรงปากประแจจะมีด้านเดียวและอีกด้านเป็นด้ามจับตรงแบน ทำจากเหล็กกล้าชุบแข็งตึขึ้นรูปพิเศษที่มีความแข็งแกร่งทนทาน ต้านทานต่อแรงกระแทกสูง จึงเหมาะสำหรับขันสกรูขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงขันให้แน่นมาก เช่น งานซ่อมบำรุงอุตสาหกรรมเครื่องจักรหนัก, การต่อเรือ, เครื่องยนต์, งานก่อสร้าง เป็นต้น
ประแจแหวนคู่ (Double Offset Ring Wrench)
ประแจประเภทนี้จะมีวงแหวนกลมที่ส่วนปลายทั้งสองด้านโดยภายในวงแหวนกลมจะมีร่องเหลี่ยมทั้งแบบ 6 เหลี่ยม กับ 12 เหลี่ยม และบริเวณด้ามจับประแจออกแบบมาให้มีความยาวเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถออกแรงบิด-แรงกดได้มากขึ้น ทำให้ขันเกลียว น็อต หรือหัวโบลท์ได้กระชับแน่นหนา จึงเหมาะสำหรับใช้กับงานซ่อมทั่วไป เช่น ซ่อมรถยนต์, รถมอเตอร์ไซค์, รถจักรยาน และเครื่องจักรต่างๆ
ประแจแหวนเดี่ยว (Single Offset Ring Wrench)
ลักษณะของหัวประแจจะเป็นวงแหวนกลมเพียงด้านเดียวโดยภายในวงแหวนจะมีร่องเหลี่ยมทั้งแบบ 6 เหลี่ยม กับ 12 เหลี่ยม ส่วนอีกด้านจะเป็นด้ามจับที่ออกแบบมาให้จับถนัดมือ ไม่ลื่น และมีความแข็งแรงทนทาน มีหลากหลายไซต์ให้เลือกใช้งาน เพื่อให้สามารถขันหรือคลายเข้ากับหัวน็อต/หัวโบลต์ได้อย่างพอดีและแน่นหนา จึงถือเป็นเครื่องมือช่างที่เหมาะสำหรับใช้งานหนัก เช่น งานซ่อมบำรุงรถยนต์, เครื่องจักร, เรือ, และงานก่อสร้าง เป็นต้น
ประแจกระบอก (Socket Wrench)
ลักษณะทั่วไปของประแจกระบอกจะประกอบด้วยชุดอุปกรณ์เสริมที่สามารถนำไปต่อเข้ากับหัวประแจได้อีกที อาทิเช่น หัวลูกบล็อกแบบ 6 เหลี่ยม 8 เหลี่ยม กับ 12 เหลี่ยม, ด้ามขันตัวที, ด้ามกรอกแกรก, ด้ามหมุนเร็ว, ก้านต่อยาว, ก้านโยก, ข้อต่ออ่อน เป็นต้น โดยถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่และปรับแรงบิดได้อย่างอิสระ ทำให้ขันหรือคลายหัวน็อต สกรู หรือสลักเกลียวได้รวดเร็วและแน่นหนาภายใต้สภาวะการทำงานที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น งานซ่อมแซมเครื่องยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น
ประแจหกเหลี่ยม (Hex Wrench)
มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับตัวแอล (L) โดยด้ามจับเป็นร่องหกเหลี่ยม ส่วนปลายหัวประแจมีรูไว้สำหรับขันเข้ากับหัวสกรูหกเหลี่ยม มีให้เลือกใช้งานหลายรูปแบบทั้งประแจหกเหลี่ยมหัวบอล, หัวท็อกซ์, หัว 2 ข้าง, หัว 12 แฉก, ด้ามตัวที, แบบชุด และแบบพับได้ ซึ่งแต่ละชนิดออกแบบมาให้สามารถปรับระยะการหมุนในมุม 25 – 30 องศาได้ แรงบิดสูง และทนต่อการสึกหรอ ทำให้ขันสกรู น็อต หรือสลักเกลียวได้รวดเร็วและง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกแรงมาก ดังนั้นประแจหกเหลี่ยมจึงเหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่แคบ เช่น งานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ งานช่างทั่วไป เป็นต้น
ประแจแหวนข้างปากตาย (Combination Spanner)
มีลักษณะพิเศษที่ปลายหัวประแจ คือ ปลายด้านหนึ่งเป็นแบบประแจปากตาย ส่วนปลายอีกด้านเป็นแบบประแจแหวน ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งสองรูปแบบภายในด้ามเดียวกัน ได้แก่ ด้านปากตายจะขันและคลายโดยการโยกในมุม 15 องศา และด้านที่เป็นวงแหวนสามารถทำได้โดยการโยกและหมุนโดยรอบ จึงเหมาะสำหรับใช้ขันและคลายในงานช่างและงานซ่อมแซมเครื่องยนต์ทั่วไป